3.1.53

วันขึ้นปีใหม่กับข้อคิดของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

ข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่...หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
image
ความจริงคำว่า "ปีเก่าและปีใหม่" เป็นพียงการสมมุติเพื่อให้มีสติจะได้ไม่ปร ะมาทในวัยและชีวิต ครั้งหนึ่งเราเคยสมมุติว่าเป็นปีใหม่ เราเคยมีความดีใจและมีความหวัง และหลายคนคงจะไม่สมหวังในสิ่งที่หวังในปีเก่าที่จะผ่านไป เมื่อไม่สมหวังในปีเก่าก็เลยฝากความหวังไว้กับปีใหม่ที่จะมาถึง คิดและทำอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า จัดว่าเป็นคนที่ประมาท มีคำอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า "เจริญวัย" ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง วัยเจริญขึ้น โดยมุ่งถึงความเจริญงอกงาม หรือพัฒนาการทางด้านร่างกาย แต่ความจริง คำว่า "วัย" เป็นภาษาบาลี แปลว่า "เสื่อมไป" เจริญวัยจึงหมายถึง ความเสื่อมเจริญ หรือความเสื่อมเพิ่มขึ้น เช่น เจริญวัยได้ ๓๙ ปี ก็หมายถึงสภาพร่างกายมีความเสื่อมไปเพิ่มขึ้น ๓๙ ปี หรือมีวัย ๖๘ ปี ก็หมายถึงมีความเสื่อมไป ๖๘ ปี เป็นต้น ซึ่งปีใหม่นั้นมันก็เกี่ยวข้องกับอายุหรือวัยของคนเรา เพราะทำให้คนเรามีอายุหรือวัยเพิ่มขึ้นตามปีที่ผ่านไป ชีวิตของคนแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะต้น ระยะกลาง และระยะสุดท้าย

*ระยะต้นของชีวิต เรียกว่า "ปฐมวัย"
กำหนดตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๒๕ ปี
*ระยะกลางของชีวิต เรียกว่า "มัชฌิมวัย"
นับตั้งแต่อายุ ๒๖ - ๕๐ ปี
*ระยะสุดท้ายของชีวิต เรียกว่า "ปัจฉิมวัย"
นับตั้งแต่อายุ ๕๑ ปีขึ้นไป

นักปราชญ์ท่านสอนคนเราให้พยายามสร้างประโยชน์แก่ตัวเองตามวัยทั้ง ๓ ดังนี้
๑. ปฐมวัย ให้รีบเร่งศึกษาหาความรู้ใส่ตัว
๒. มัชฌิมวัย ให้เร่งก่อสร้างตัวและสร้างฐานะเป็นหลักฐาน
๓. ปัจฉิมวัย ให้เร่งสร้างคุณงามความดี
คือทำบุญไว้ เพื่อเป็นเสบียงเครื่องเดินทางต่อไปของตน และเป็นตัวอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลัง ผู้ที่ไม่สร้างประโยชน์ตามวัย ย่อมเสียใจ และเสียดายเมื่อผ่านพ้นจากวัยนั้น ๆ แล้ว เช่น เป็นเด็กไม่สนใจในการศึกษา เมื่อเติบโตขึ้นไม่มีวิชาความรู้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ยามที่มีกำลังไม่รีบเร่งสร้างฐานะ เมื่อหมดกำลังแล้วย่อมกลายเป็นคนอนาถา คือ ไม่มีที่พึ่ง ถึงวัยใกล้ตายควรรีบเร่งทำบุญ แต่กลับประมาทมัวเมาในเรื่องอื่น ๆ เสีย จะต้องโศกเศร้าสงสารตัวเองเมื่อจวนจะสิ้นใจ เรียกว่า "ปีเก่า" ก็กำลังจะผ่านพ้นไป ก่อน ที่เราจะเรียกว่า "ปีใหม่" นั้น
ขอให้มาพิจารณาถึงปีที่ผ่านมาว่า ตนเองได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง โดยเฉพาะให้พิจารณาตัวเองว่าเป็นมนุษย์จำพวกไหน ในมนุษย์ ๔ จำพวก คือ
๑. มนุสฺสเปโต ได้แก่ มนุษย์เปรต
หมายถึง คนที่มีร่างกายพิกลพิการมีอาการไม่ครบ ๓๒ ต้องขอทานเลี้ยงชีวิต เป็นอยู่ลำบากและอด ๆ อยาก ๆ
ซึ่งคล้ายกับลักษณะและความเป็นอยู่ของเปรต
๒. มนุสฺสติรจฺฉาโน ได้แก่ มนุษย์ดิรัจฉาน
หมายถึง คนที่มีร่างกายสมประกอบ มีอาการครบ ๓๒ มีกำลังเรี่ยวแรง สติปัญญา แต่ไม่ทำการงานเลี้ยงชีพเอง คอยแต่อาศัยผู้อื่นกินไปวัน ๆ มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยง
๓. มนุสฺสเนรยิโก ได้แก่ มนุษย์สัตว์นรก
หมายถึง คนที่มีความประพฤติหยาบช้า กระทำการทารุณเบียดเบียนฆ่าฟันผู้อื่น หากินโดยโจรกรรม ฉ้อสงฆ์ บังศาสน์ ฉ้อราษฎร์ บังหลวง ประกอบอาชีพไม่สุจริต จนในที่สุดต้องติดคุกติดตะรางเหมือนสัตว์นรก
๔. มนุสฺสภูโต ได้แก่ มนุษย์แท้
หมายถึง คนที่มีความประพฤติดีงาม รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น
๕. มนุสฺสเทโว ได้แก่ มนุษย์เทวดา
หมายถึง คนที่มีความประพฤติดีเยี่ยม มีหิริ คือความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ทั้งมีนิสัยบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ประพฤติตนดีเลิศคล้ายเทวดา
ข้อคิดที่อยากจะฝากไว้เนื่องในวันขึ้นปีใหม่นี้ เป็นข้อคิดอันดับสุดท้ายก็คือ ข้อที่บุคคลควรพิจารณาอยู่เสมอ พิจารณาอยู่บ่อย ๆ เพื่อทำใจให้ยอมรับความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ภาษาพระท่านเรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี ๕ คือ
๑.ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้
๓. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. ควรพิจารณาทุก ๆ วันว่า เรามีกรรมเป็นของตัวเอง เราทำดีก็จะได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว

คนเรานั้นโดยมากอายุไม่ถึง ๑๐๐ ปี เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ต้องมีกรรม คือ การกระทำ และมีวิบาก คือผลของการกระทำ ตราบนั้นคนเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ และเมื่อเกิดมาแล้วสิ่งที่เราต้องพิจารณาก็คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย โดยเฉพาะเรื่องของความแก่ เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ที เราก็แก่ไปอีกปี นึก ๆ ดู ๑ ปี มี ๓๖๕ วัน นั้น ช่างรวดเร็วเหมือนกับกาลเวลามันติดปีกจรวดบิน บางทียังไม่ได้ทันทำอะไรเลย ก็หมดไปแล้วอีก ๑ ปี เราก็แก่หรืออายุมากขึ้นอีก ๑ ปี ผู้ที่อยู่ในปัจฉิมวัย คืออายุเลยเลข ๕ ไปแล้ว จะรู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงมีคำถามที่ถามกันเล่น ๆ ว่า
.."อะไรเอ่ย? เรายิ่งหนี มันยิ่งตาม"
คำตอบ ก็คือ ความแก่ เพราะความแก่นั้นไม่มีใครต้องการหลายคนจึงพยายามวิ่งหนี แต่จะหนีอย่างไร ก็ไม่มีทางหนีพ้นแต่อาจชะลอได้ คือ ชะลอไม่ให้แก่เร็วหรือแก่เกินวัย เช่น เมื่อมีรอยตีนกาเกิดขึ้นบนใบหน้า เมื่อเวลายิ้มก็หาเครื่องสำอาง หรือเครื่องประเทืองผิวมาทา ตรงบริเวณที่เกิดรอยตีนกาก็จะไม่ปรากฏชัด คนสมัยก่อนท่านสอนไว้ดีมากในเรื่องของการชะลอความแก่ โดยการเป็นคนร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอ ถึงกับมีคำพูดว่า "ยิ้มวันละนิดจิตแจ่มใส" คนที่ร่าเริง ยิ้มแย้มอยู่เสมอนั้น จะดูเป็นคนที่อ่อนกว่าวัย หน้าไม่ทรยศเจ้าของ ตรงกันข้ามกับคนที่เคร่งเครียด หน้าบึ้ง จะดูเป็นคนที่แก่เกินวัย หน้าทรยศเจ้าของ
…และมีคำถามที่ถามกันว่า "อะไรเอ่ย ? เรายิ่งตามมันยิ่งหนี"
คำตอบก็คือ ความหนุ่ม ความสาว เพราะความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้นใคร ๆ ก็ปรารถนา แต่ความหนุ่ม ความสาวนั้น เรายิ่งตาม มันก็ยิ่งหนี เราไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นจึงฝากไว้เป็นข้อคิดคือ ควรพิจารณาถึงความเป็นจริงว่า คนเรานั้นมีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้ คนเราจะต้องพลัดพรากจากของที่เรารัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และคนเรานั้นมีกรรมเป็นของตนเอง ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว.
ที่มา : http://www.gun.in.th/board/index.php?topic=85447.0