6.8.55

การเรียนการสอนในช่วงของการเปลี่ยนแปลง


      ปัจจุบันการเรียนการสอนมีเทคนิคและเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองผ่านโลกของอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างต้องค้นคว้า เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่อยู่บนมือถือ และคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ้คอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
      ในบางครั้งที่มีสถานการณ์ทางการเมืองไม่สู้ดีอาจทำให้การเดินทางในกรุงเทพมหานครติดขัด หรือไม่สะดวก อันเนื่องมาจากการปิดเส้นทางเดินทางในบางช่วง พร้อมกับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด จึงทำให้มหาวิทยาลัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบต้องหยุดเรียน เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอน จากการสอบถามผู้บริหารสถานศึกษาพบว่าสามารถอนุโลมได้ แต่ต้องสอนให้ครบทุกบทที่มีการเรียนการสอน
      ดังนั้นกระบวนการติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์หรือ social media จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าพบว่าการติดต่อสื่อสารกับนักศึกษาผ่าน facebook โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเรียนสามารถทำให้ช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้แต่อย่างใด  จึงทำให้ภายหลังจากได้ทำการสอนในชั้นเรียนครบทั้ง 8 บทแล้ว (เป็น 8 บท ที่เป็นไปอย่างรีบด่วน แต่ก็สอบถามนักศึกษาที่มาเรียนจนแน่ใจว่าเข้าใจจริงหรือไม่แล้ว)
      สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานการเรียนเกี่ยวกับการศึกษาแล้วจบมาเพื่อสอนนักศึกษาอย่างข้าพเจ้าจึงรู้สึกสบายใจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บุคลากรบางกลุ่มเข้าใจถึงวิธีการให้คะแนน การให้การบ้าน การเก็บคะแนน ของข้าพเจ้าได้ดีนัก...จึงทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ที่จะสอนหนังสือได้นั้นนอกจากจะเก่งในเนื้อหาวิชาที่สอนแล้ว ควรต้องรู้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ และเทคนิคในการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ หากเป็นไปได้ควรมีการจัดหลักสูตรระยะสั้นให้ผู้สอนทุกคนมีความรู้ในวิชาชีพครูก่อนสอนหนังสือ แล้วก้าวสู่การเป็นผู้บริหารในการตัดสินกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่า "การทวนสอบ" พฤติกรรมของผู้สอน รวมทั้งการให้คะแนนอย่างเป็นธรรม ...^^
ผศ.บุญญลักษม์ ตำนานจิตร