ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้คนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาพัฒนาในการเรียนการสอนมากมาย เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน อาจารย์กับนักศึกษา แต่ก็ไม่อาจมีสื่อใดมาแทนที่ความเป็นครูได้ เพราะสื่อที่มิใช่บุคคลไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้เทียบเท่ามนุษย์ด้วยกันพึงจะสอนกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการให้ความสำคัญกับความเป็นครูมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และคงมีการให้ความสำคัญไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่างครูกับศิษย์ไม่อาจสร้างขึ้นได้เพียงแค่การใช้นิ้ว “คลิ๊ก”
ผศ.บุญญลักษม์ ตำนานจิตร
ประวัติความเป็นมาของวันครู
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ปีพ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูใน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวครู ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่ อนุชนรุ่นหลัง ทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
ดอกกล้วยไม้ ดอกไม้วันครู
คณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีมติกำหนดให้ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้ประจำวันครู โดยพิจารณาเห็นว่าธรรมชาติของดอกกล้วยไม้มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานจัดการ ศึกษาและสภาพชีวิตของครูดังคำกลอนของ ท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ว่า
“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป ฉันนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
นอกจากนี้กล้วยไม้เป็นพืชที่อยู่ในที่สูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเหมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทย ที่ต้องอดทนต่อสู้ เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
วันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1.กิจกรรมทางศาสนา
2.พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3.กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น
คาถา ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)
ข้าขอประนมกระพุ่ม อภิวาทนาการ
กราบคุณอดุลคุรุประทาน หิตเทิดทวีสรร
สิ่งสมอุดมคติประพฤติ นรยึดประครองธรรม์
ครูชี้วิถีทุษอนันต์ อนุสาสน์ประภาษสอน
ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน นะตระการสถาพร
ท่านแจ้งแสดงนิติบวร ดนุยลยุบลสาร
โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล
ไปเปื่อก็เพื่อดรุณชาญ ลุฉลาดประสาทสรรพ์
บาปบุญก็สุนทรแถลง ธุระแจงประจักษ์ครัน
เพื่อศิษย์สฤษฎ์คตจรัล มนเทิดผดุงธรรม
ปวงข้าประดานิกรศิษ (ษ) ยะคิดระลึกคำ
ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ อนุสรณ์เผดียงคุณ
โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก อดิเรกเพราะแรงบุญ
ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน- ทรศิษย์เสมอเทอญฯ
1. ข้าจะบำเพ็ญตนในสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
2. ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ประเทศที่มีวันครูที่ไม่ใช่วันหยุด
- อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
- มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
- ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน
- แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
- จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
- สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
- อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
- ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
- โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
- รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
- สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
- สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
- เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
- ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
- ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
- สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
- เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน